โครงการส่งเสริมการบริหารจัดการร่วมด้านทรัพยากรชายฝั่งและสิ่งแวดล้อมทะเลอันดามัน
โครงการส่งเสริมการบริหารจัดการร่วมด้านทรัพยากรชายฝั่งและสิ่งแวดล้อมทะเลอันดามัน หรือโครงการอนุรักษ์หอยชักตีน โดยความร่วมมือกับ กลุ่มจังหวัดอันดามัน (ระนอง ภูเก็ต พังงา กระบี่ ตรัง สตูล) โดยเป็นโครงการที่มุ่งเน้นการสร้างเครือข่ายการบริหารจัดการอย่างยั่งยืน
หอยชักตีนเป็นทรัพยากรสัตว์น้ำที่มีความสำคัญชนิดหนึ่งในระบบนิเวศน์วิทยาชายฝั่ง เนื่องจากหอยชักตีนเป็นสัตว์ทะเลชนิดหอยฝาเดียวที่อาศัยอยู่ตามบริเวณชายฝั่งที่มีลักษณะเป็นโคลนปนทราย และมักจะอาศัยอยู่ชุกชุมในแหล่งหญ้าทะเล หอยชักตีน เป็นสัตว์หน้าดินที่ออกหากินในเวลากลางคืนโดยกินเศษซากเน่าเปื่อยตามพื้นท้องทะเลในแหล่งที่มันอาศัยอยู่ นอกจากจะเป็นการช่วยกำจัดเศษซากและทำความสะอาดท้องทะเลแล้ว ยังจะเป็นการช่วยปรับสมดุลของระบบนิเวศตามธรรมชาติด้วย
หอยชักตีนมีถิ่นที่อยู่แพร่กระจายอยู่ทั่วไปในประเทศเขตร้อน สำหรับในประเทศไทยมีแพร่กระจายทั้งฝั่งทะเลอันดามันและฝั่งอ่าวไทย โดยเฉพาะที่จังหวัดกระบี่จนถึงกับมีการกล่าวเปรียบเทียบว่า ใครมาเยือนกระบี่แล้ว ไม่ได้รับประทาน หอยชักตีน เหมือนกับยังมาไม่ถึงกระบี่
ดังนั้นเมื่อมีการนำหอยชักตีนขึ้นมาบริโภคอย่างต่อเนื่องโดยขาดการบริหารจัดการที่ดี ทำให้ปริมาณหอยชักตีนในแหล่งธรรมชาติลดน้อยลงเพราะหอยไม่สามาสารถขยายพันธุ์ได้ตามธรรมชาติ ซึ่งในอนาคตอาจจะขาดแคลนและสูญพันธุ์ไปจากแหล่งธรรมชาติได้
มูลนิธิเอ็นไลฟ เป็นองค์กรที่มีวัตถุประสงค์และภารกิจหลักในเรื่องการดูแล รักษาและฟื้นฟูเรื่องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมชายฝั่งอย่างยั่งยืน ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในเรื่องนี้ จึงได้จัดกิจกรรมเพื่อปลูกจิตสำนึกและรณรงค์การบริหารจัดการหอยชักตีน ดังนี้
- การสัมมนา การบริหารจัดการหอยชักตีนในฝั่งทะเลอันดามัน โดยมุ่งเน้นที่จะได้ข้อสรุปจากการสัมมนา เพื่อนำไปเป็นแนวทางในการจัดทำแผนการบริหารจัดการหอยชักตีนต่อไปในอนาคต
- การรณรงค์การบริหารจัดการหอยชักตีน ด้วยสื่อประชาสัมพันธ์ เช่น แผ่นพับ โปสเตอร์ สติ๊กเกอร์ และ ป้ายประชาสัมพันธ์ขนาดใหญ่
- การปล่อยพันธุ์หอยชักตีน เป็นต้น