โครงการอุทยานการเรียนรู้ใต้ท้องทะเลจังหวัดกระบี่
เป็นโครงการที่ส่งเสริมในการสร้างระบบนิเวศใหม่ใต้ท้องทะเล โดยการจัดทำแนวปะการังเทียมจากวางเรือปลดระวาง จำนวน 4 ลำ บริเวณเกาะพีพีเล และเกาะยาวาซำ จังหวัดกระบี่ ซึ่งได้ทำการวางเรือมาตั้งแต่ปี 2555 ในปีที่ผ่านมา (ปี 2561) มูลนิธิเอ็นไลฟ ได้ทำการศึกษาและติดตามการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมบริเวณอุทยานการเรียนรู้ใต้ท้องทะเล รวมถึงประเมินความคุ้มค่าการใช้ประโยชน์ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใน 3 ด้าน ได้แก่ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการสรุปผล
ผลลัพธ์
- ขยายการมีส่วนร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี ในการจัดทำทุ่นแสดงจุดวางเรือ รวมถึงการลงพื้นที่สำรวจทางกายภาพและชีวภาพของอุทยานการเรียนรู้ใต้ท้องทะเลร่วมกันในครั้งที่ 2 ในปี 2563 เพื่อสำรวจถึงความเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศใต้ท้องทะเล
- ขยายการมีส่วนร่วมกับหน่วยงานภาคเอกชน ได้แก่ ผู้ประกอบการร้านดำน้ำ ในการดูแลอุทยานการเรียนรู้ใต้ท้องทะเลร่วมกัน พร้อมทั้งการให้ภาพถ่ายที่เป็นประโยชน์ในการดำเนินการต่างๆ ของมูลนิธิเอ็นไลฟ
- สรุปผลการศึกษาด้านกายภาพชีวภาพ
- พบปลาที่เข้าอาศัยอยู่ในบริเวณอุทยานการเรียนรู้ใต้ท้องทะเล ไม่น้อยกว่า 66 ชนิด 43 สกุล 26 วงศ์ โดยสัดส่วนปลาที่เป็นปลาที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจสูง
- มีสัดส่วนของปลากลุ่มที่เป็นปลาที่อาศัยอย่างถาวรสูง แสดงถึงแนวโน้มที่จะเป็นระบบนิเวศและแหล่งที่อาศัยใหม่
- สรุปผลด้านเศรษฐกิจและความพึงพอใจ
- ด้านเศรษฐกิจ มีรายได้สะพัดจากการท่องเที่ยวและดำน้ำรวมถึงการใช้จ่ายในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ประมาณ 659,319,500 บาท เป็นเงินที่เกิดจากการใช้จ่ายเพื่อดำน้ำในพื้นที่อุทยานการเรียนรู้ใต้ทะเล ประมาณ 43,750,000 บาท