พื้นที่อุทยานการเรียนรู้ใต้ท้องทะเลจังหวัดกระบี่

โครงการอุทยานการเรียนรู้ใต้ท้องทะเลจังหวัดกระบี่ พื้นที่เกาะพีพีเล และเกาะยาวาซำ

มูลนิธิเอ็นไลฟ ร่วมกับสภาการศึกษาจังหวัดกระบี่ จังหวัดกระบี่ กองทัพเรือ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และภาคีที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันดำเนินการสร้างอุทยานการเรียนรู้ใต้ท้องทะเลจังหวัดกระบี่ขึ้น โดยการวางเรือหลวงที่ปลดประจำการแล้วจำนวน 4 ลำ ได้แก่ เรือหลวงโกลำ เรือหลวงราวี เรือหลวงตะลิบง (บริเวณเกาะยาวาซำ) ในปี พ.ศ. 2555 และเรือหลวงเกล็ดแก้ว (บริเวณเกาะพีพีเล) ในปี 2557 ให้เป็นบ้านใหม่ของสัตว์ทะเลน้อยใหญ่ในฐานะ “แนวปะการังเทียม” เพื่อเพิ่มแหล่งอาศัยสัตว์น้ำถาวร ลดผลกระทบและภาระจากการใช้ประโยชน์ของมนุษย์ต่อแนวปะการังธรรมชาติ รวมทั้งเป็นแหล่งเรียนรู้ระบบนิเวศใต้ท้องทะเล

ผลลัพธ์การดำเนินงาน

  • การถอดบทเรียนการจัดสร้างอุทยานการเรียนรู้ใต้ท้องทะเล ร่วมกับกลุ่มผู้ใช้ประโยชน์จำนวน 15 ราย ประกอบด้วยผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยวดำน้ำ ครูสอนดำน้ำ นักท่องเที่ยวดำน้ำ อาสาสมัครนักดำน้ำบนเกาะพีพี เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี และนักวิชาการ และกลุ่มผู้ร่วมจัดสร้างอุทยานการเรียนรู้ฯ ด้วยการสัมภาษณ์ และรวบรวมเอกสารข้อมูล เพื่อนำไปจัดทำเป็น KM E-book
  • การสำรวจเพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพและชีวภาพของสิ่งมีชีวิต ประจำปี 2565 บริเวณเรือหลวงเกล็ดแก้ว เกาะพีพีเล
  • การขยายผลการสำรวจไปยังแหล่งอุทยานการเรียนรู้ใต้ท้องทะเลฯ ระยะที่สองบริเวณเกาะหมา อำเภอเกาะลันตา (เรือปราบปรปักษ์) ที่จัดวางเมื่อเดือนกุมภาพันธุ์ 2565 เพื่อให้ได้ข้อมูลช่วงเริ่มจัดวางทำให้การจัดการความรู้มีความครบถ้วนมากยิ่งขึ้น
  • วิทยากรถ่ายทอดความรู้และฝึกอบรมทักษะการสำรวจสิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเล แก่เจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช จำนวน 40 คน
  • ค่ายอบรมเยาวชนระบบนิเวศหน้าบ้านและขยะทะเลบนเกาะพีพี และค่ายการฝึกอบรมผลิตคลิปสารคดีสั้นโดยเยาวชนเกาะพีพี มีผู้เข้าร่วมทั้งสิ้น 40 คน ประกอบด้วยนักเรียนและครูโรงเรียนพระราชทานบ้านเกาะพีพี จำนวน 29 คน และวิทยากรจากภาคีเครือข่าย จำนวน 11 คน
  • เยาวชนมีความรู้เกี่ยวกับระบบนิเวศในพื้นที่เกาะพีพีมากขึ้นหลังได้รับการอบรม มีความรู้และทักษะเบื้องต้นสามารถผลิตคลิปวีดีโอสารคดีสั้นนำเสนอสถานการณ์สิ่งแวดล้อมด้วยโทรศัพท์มือถือได้
  • การเผยแพร่คลิปวีดีโอสั้นที่ผลิตโดยเยาวชนเกาะพีพีใน Facebook: Enlive Foundation มูลนิธิเอ็นไลฟ จำนวน 4 คลิป ได้แก่ “ธรรมชาติสร้างชีวิต” “มีอะไรอยู่ในหาดทราย” “ขยะมาจากไหน” และ “ร่วมด้วยช่วยทะเล”
การสำรวจประชากรปลา โดยแบ่งเป็นสถานีสำรวจ 4 สถานี
นักวิชาการ และนักดำน้ำอาสาสมัคร เข้าร่วมสำรวจประชากรปลา ตามสถานีสำรวจ ที่บริเวณเกาะพีพีเล จุดวางเรือเกล็ดแก้ว
จากการสำรวจพบว่า บริเวณเรือเกล็ดแก้วด้านบน เป็นจุดที่มีความชุกชุมของปลามากที่สุด