ป่าชายเลน

ต้นไม้อยู่ในทะเลได้ยังไง?

เมื่อนึกถึงป่าชายเลนหลายคนอาจนึกถึงแนวต้นโกงกางริมทะเล หรือริมคลอง เนื่องจากในปัจจุบันเราจะได้เห็นป่าปลูกที่เป็นต้นโกงกางเป็นส่วนใหญ่ หรือการรณรงค์ให้ปลูกต้นโกงการในป่าชายเลนเป็นหลัก

แต่ในความเป็นจริงแล้วป่าชายเลนมีพรรณไม้ที่หลากหลาย และมีการแบ่งเขตพรรณไม้ตามสภาพพื้นที่และระดับการขึ้นลงของน้ำทะเล ซึ่งสามารถดูได้จากภาพประกอบการแบ่งเขตพรรณไม้ ของป่าชายเลนมาเพื่อให้ได้ทราบถึงโครงสร้างป่าและชนิดพรรณไม้ในเขตต่างๆ กันพอสังเขป
• เขตน้ำลงต่ำสุด ประกอบด้วยพรรณไม้หลักๆ ได้แก่ กลุ่มต้นแสม เช่น แสมขาว แสมดำ แสมทะเล ซึ่งจะขึ้นได้ดีในบริเวณดอนที่มีสภาพเป็นเลนหนาและเลนปนทราย ต้นแสมถือเป็นพรรณไม้เบิกนำของป่าชายเลนหลายๆ พื้นที่ เมื่อสภาพดินมีความเหมาะสมจึงมีพรรณไม้ในชั้นถัดไปสามารถงอกขึ้นมาได้

• เขตน้ำทะเลปานกลาง มักพบไม้กลุ่มหลักๆ ได้แก่ ต้นโกงกางใบใหญ่ โกงกางใบเล็ก ต้นถั่วขาว ถั่วดำ (ที่เป็นไม้ยืนต้นชื่อว่าถั่ว ไม่ใช่ถั่วจริงๆ) กลุ่มนี้มักจะมีรากค้ำยัน และรากอากาศช่วยหายใจที่เราคุ้นตากันดี ในโซนนี้จะถูกน้ำท่วมเมื่อน้ำขึ้นถึงระดับนำทะเลปานกลาง แต่จะแห้งเมื่อน้ำลงต่ำสุด

• เขตน้ำทะเลขึ้นสูงเป็นกลุ่มพืชที่ปรับตัวเพื่ออยู่ในเขตน้ำทะเลท่วมเมื่อน้ำทะเลขึ้นสูง และทนน้ำทะเลท่วมได้เป็นระยะเวลาสั้นๆ พืชในโซนนี้นยังคงมีรากอากาศที่ช่วยหายใจ ในขณะเดียวกัน พื้นดินที่มีความมั่นคงขึ้นกว่าโซนนอก และไม่ได้รับอิทธิพลจากกระแสน้ำมาก จึงไม่พบพืชที่มีระบบรากค้ำยันสำหรับการยึดตัวกับพื้น

• เขตน้ำทะเลขึ้นสูงสุด จะพบพืชกลุ่มที่สามารถขึ้นได้ดีบริเวณชายน้ำที่น้ำสามารถท่วมถึงได้ในช่วงที่น้ำขึ้นสูงสุดของเดือน พรรณไม้ในบริเวณนี้จะเริ่มมีการพัฒนาใกล้เคียงกับป่าบก และบางครั้งอาจพบต้นไม้จากป่าบกขึ้นปะปนอยู่ด้วย

การแบ่งเขตพรรณไม้ของป่าชายเลน


การพัฒนาของป่าชายเลนทำให้เกิดการรุกคืบของแผ่นดินลงไปในทะเลเกิดแผ่นดินใหม่ชายฝั่ง และป่าชายเลนธรรมชาติที่สมบูรณ์ยังเป็นปราการป้องกันการกัดเซาะชายจากกระแสคลื่นลมอีกด้วย

เมื่อได้เห็นป่าชายเลนในเวลาที่น้ำขึ้นจนท่วม อันที่จริงต้นไม้ป่าชายเลนก็ไม่ได้เกิดมาเพื่ออยู่ในที่ๆน้ำท่วมถึงตลอดเวลา แต่การปรับตัวเพื่ออยู่ในบริเวณชายทะเล ที่มีโอกาสถูกน้ำท่วมถึงได้นั้น ช่วยให้ต้นไม้ในป่าชายเลนหลีกเลี่ยงการแข่งขันเพื่อแย่งชิงพื้นที่และทรัพยากรกับต้นไม้อื่นๆ บนป่าบนบกที่ไม่สามารถตามลงมาแย่งพื้นที่ในทะเลได้..แต่การชิงความได้เปรียบเหล่านี้ย่อมมีต้นทุนที่ต้องจ่ายเสมอ…ต้นไม้ในป่าชายเลนต้องปรับตัวเพื่อการอยู่รอด เติบโตและสืบพันธุ์อย่างไรบ้าง มาดูกัน

เราจะเอาวิธีการปรับตัวโดยสังเขป ที่ทำให้ต้นไม้ป่าชายเลนประสบความสำเร็จในการครอบครองพื้นที่ชายฝั่งทะเลกัน เริ่มจาก

  • ระบบราก ต้นไม้ป่าชายเลนที่ขึ้นได้ในพื้นที่ดินเลนน้ำท่วมถึงนั้น ต้องเผชิญปัจจัยที่สำคัญๆ 2 ปัจจัย คือ
    – ความไม่มั่นคงของดิน และการกัดเซาะของกระแสน้ำคลื่นลม
    – สภาวะขาดแคลนอากาศในดิน
    ดังนั้น รากของต้นไม้ในป่าชายเลนจึงถูกออกแบบมาเพื่อค้ำจุนพยุงลำต้น และช่วยหายใจในสภาพดินที่ขาดแคลนอากาศ ซึ่งภาพที่เราคุ้นกันมากที่สุดน่าจะเป็นรากของต้นโกงกาง ที่จะมีรากค้ำจุน (Prop root) และรากอากาศ (Aerial root) ระโยงระยางเต็มไปหมด.. แต่ในความเป็นจริง รากช่วยหายใจที่เรียกว่า Pneumatophore นั้นมีหลากหลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับสภาวะ และเขตพื้นที่ที่พืชขึ้นอยู่ดังรูปนำมาให้ชม
  • ใบของต้นไม้ในป่าชายเลนนั้นมักถูกออกแบบมาเพื่อลดการสูญเสียน้ำจืดที่หาได้ยากในทะเล โดย
    – มักมีใบอวบน้ำ เพื่อเก็บความชื้นไว้ในใบให้มากที่สุด
    – มีผิวใบที่มีความมันเคลือบไว้เพื่อลดการสูญเสียน้ำจากการระเหยหรือคายน้ำ
    – ส่วนใหญ่จะมีปากใบอยู่บริเวณด้านใต้ของใบ เพื่อให้คายน้ำได้น้อยที่สุด
    – จากการที่อยู่ในทะเลทำให้เมื่อดูดน้ำทะเลมาแล้วต้องมีการขับเกลือส่วนเกินออกเพื่อแยกเอาแต่น้ำจืดไปใช้ บริเวณปากใบของต้นไม้ป่าชายเลนมักมีต่อมขับเกลือออกจากต้น และอาจมีต่อมขับเกลือในส่วนอื่นๆ ของลำต้นด้วย
  • ผล เนื่องจากปัจจัยสำคัญที่ช่วยในการแพร่กระจายของเมล็ดพืชในป่าชายเลนมักได้แก่กระแสน้ำ เมล็ดพืชในป่าชายเลนจึงถูกออกแบบมาให้
    – มีการงอกของต้นอ่อนตั้งแต่ยังอยู่บนต้นแม่ ที่เรียกว่าแบบ viviparous เช่น ฝัก (Propagules) ของต้นโกงกาง ซึ่งเมื่อตกลงจากต้นแม่ก็ปักดินพร้อมจะงอกได้ทันที ..แต่หากเมล็ดร่วงในช่วงน้ำขึ้นสูงก็อาจไม่ได้งอกในทันทีดังนั้น
    – เมล็ดของต้นไม้ป่าชายเลนจึงต้องมีความสามารถล่องลอยไปกับกระแสน้ำได้ไกลๆ เพื่อจะไปงอกได้ในพื้นที่ๆ เหมาะสม แต่ในพื้นที่เหล่านั้นอาจมีสัตว์น้ำผู้หิวโหยจำนวนมากที่อาจคอยกินอยู่ จึงต้องมีการสะสมสารแทนนินในฝักของต้นไม้ป่าชายเลนบางชนิด ซึ่งสารแทนนินนอกจากให้รสชาติที่ไม่น่ากินแล้วยังสามารถออกฤทธิ์ต้านแบคทีเรียบางชนิดได้ด้วย
ราก ผล และใบ แบบต่างๆ ของต้นไม้ป่าชายเลน

อย่างไรก็ตามถึงแม้จะขึ้นอยู่ได้ในทะเล แต่หลายคนอาจคิดว่าต้นไม้ป่าชายเลนอาจไม่ชอบน้ำจืดหรือขึ้นในน้ำจืดไม่ได้..แต่ที่จริงแล้วการรดน้ำต้นโกงกางด้วยน้ำจืดก็ไม่ทำให้ต้นตาย แถมยังโตดีด้วย เพราะต้นไม้เหล่านี้เพียงแต่ปรับตัวเพื่อให้อยู่ในน้ำเค็มได้ แต่ก็ยังคงใช้น้ำจืดในการดำรงชีพอยู่

แต่สิ่งที่จะทำให้ต้นไม้ป่าชายเลนตายได้จริงๆ คือ การที่ทำให้น้ำท่วมขังรากเป็นเวลานานๆ โดยไม่มีการระบายเหมือนการขึ้นลงของกระแสน้ำในธรรมชาติจนทำให้รากหายใจไม่สามารถทำงานได้ บ่อยครั้งที่เราต้องสูญเสียพื้นที่ป่าชายเลนจำนวนมากเพราะความไม่รู้ เช่น จากการตัดถนนผ่านป่าโกงกางจนเป็นการกักน้ำไว้โดยไม่มีระบบการระบายน้ำ ทำให้เกิดการท่วมขังราก หรือการสร้างประตูกั้นน้ำเค็มที่มีระบบการเปิดปิดน้ำไม่สอดคล้องกับความต้องการของต้นไม้

คุณค่าและประโยชน์ของป่าชายเลน ที่หลายคนหลงลืม
ที่หลายคนไม่รู้ว่า ‘ป่าชายเลน’ มีคุณค่า และมีประโยชน์ที่ส่งผลชีวิตมนุษย์ และระบบนิเวศอย่างมากมาย

ประโยชน์ของป่าชายเลน เราสามารถแบ่งออกเป็น
1. ประโยชน์จากการใช้โดยตรง
• การใช้ประโยชน์จากไม้ใช้สอย เช่น การใช้ไม้ทำฟืน และเผาถ่าน ทำอุปกรณ์ประมงพื้นบ้าน
• การใช้พืชในป่าชายเลนเป็นอาหาร และยาสมุนไพร เช่น เหงือกปลาหมอ มะนาวผี ใช้รักษาโรคผิวหนัง ผลของตะบูนขาวใช้รักษาโรคบิดและโรคท้องร่วงได้ รากตาตุ่มทะเลใช้แก้อักเสบ แก้ไข้ แก้คัน เป็นต้น
• การจับสัตว์น้ำที่อาศัยในลำคลองของป่าชายเลน เช่น ปูดำ ปลากระบอก
• การใช้ป่าชายเลนเป็นที่ท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจที่เต็มไปด้วยความหลากหลายทางชีวภาพของพืชพันธุ์และสัตว์ทะเล

2. ประโยชน์จากการเป็นแหล่งนิเวศบริการ ซึ่งไม่ได้เกิดจากการใช้โดยตรง แต่เกิดจากการมีอยู่ของระบบนิเวศป่าชายเลน เช่น
• การเป็นแหล่งอาหารที่สมบูรณ์ของสัตว์น้ำ : เศษไม้หรือใบไม้ที่ร่วงหลนจะถูกย่อยสลายกลายอินทรียวัตถุ เกิดกระบวนการย่อยสลายจนกลายเป็นโปรตีนสำหรับสัตว์ที่อาศัยในบริเวณนั้นๆ เช่น ปู หอย ปลา ไปจนถึงกุ้งและหนอน
• การเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน : ส่งผลถึงเศรษฐกิจต่อชุมชนและต่อประเทศอย่างมากมาย เช่น อนุบาลตัวอ่อนของ กุ้งกุลาดำ กุ้งแชบ๊วย หอยนางรม หอยแครง หรือ ปลากะพงขาว ปลากระบอก ปูม้า ปูแสม เป็นต้น
• เป็นแหล่งที่ช่วยรักษาความสมดุลของระบบนิเวศชายฝั่ง ที่อยู่ใกล้เคียง เช่น หาดเลน หญ้าทะเล แนวปะการัง: เนื่องจากตะกอนต่างๆ ที่มาพร้อมกับกระแสน้ำที่พัดเข้ามาบริเวณชายฝั่งของป่าชายเลน จนเกิดเป็นการทับถมของดิน ทำให้เกิดหน้าดินใหม่ และเมื่อใช้ระยะเวลานานมากขึ้นก็จะแพร่ขยายลงบนบริเวณทะเลเป็นอันเรียกว่า “หาดเลน” นั่นเอง
• เป็นกำแพงป้องกันการพังทลายของชายฝั่ง และเป็นปราการปกป้องชีวิตและทรัพย์สินของผู้อาศัยอยู่ในบริเวณชายฝั่งด้านหลังพื้นที่ป่าชายเลน : กระแสน้ำที่รุนแรงที่รวมถึงกระแสลมที่สามารถป้องกันได้ ทำให้ประชากรที่อาศัยอยู่ภายในบริเวณดังกล่าว ได้รับผลกระทบน้อยลงจากพลังธรรมชาติ
• เป็นผู้ช่วยดักขยะ และดูดซับ บำบัดน้ำเสียและสิ่งปฏิกูลก่อนจะออกสู่ทะเล : จะถูกดักโดยรากของต้นไม้ในป่าชายเลนที่งอกออกมาเหนือพื้นดิน
• เป็นผู้ช่วยลดคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศโดยการตรึงคาร์บอนเก็บไว้ในรูปของมวลชีวภาพ เช่น ลำต้น ราก ใบ และช่วยเพิ่มปริมาณออกชิเจน
• เป็นแหล่งรายได้จากการประกอบอาชีพต่างๆ ที่พึ่งพาป่าชายเลน : ป่าชายเลนมีบทบาทในการรักษาสมดุลของธาตุอาหารและความอุดมสมบูรณ์ของน้ำทะเลชายฝั่งซึ่งจะส่งผลถึงความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรประมงด้วย

คุณค่าและประโยชน์ของป่าชายเลน

‘ป่าชายเลน’ มีเรื่องราวมากมายที่ซ่อนอยู่มากกว่าป่าโกงกางที่ทุกคนรู้จัก แต่ปัจจุบันป่าชายเลนเองก็ได้รับผลกระทบมากมายจากการกระทำของมนุษย์ ทำให้มีความอุดมสมบูรณ์ที่น้อยลง

ศึกษาและเรียนรู้ธรรมชาติให้มากขึ้นเพื่อให้เราลดการทำร้ายกันและกันให้มากที่สุด เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน