ปะการัง

แนวปะการัง ป่าใหญ่ใต้ท้องทะเล

แนวปะการังเป็นระบบนิเวศที่สำคัญที่มักพบต่อเนื่อง หรือพบร่วมกับแหล่งหญ้าทะเล แต่แนวปะการังบางแห่งก็ไม่พบแหล่งหญ้าทะเล หากบนแผ่นดิน มีป่าดิบชื้นเป็นระบบนิเวศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงแล้ว ในทะเลก็มีแนวปะการังที่เปรียบเสมือนป่าดิบชื้นในทะเล ..ต่างกันคือป่าบกมีโครงสร้างแหล่งอาศัยที่เกิดจากต้นไม้และพืชต่างๆ แต่แนวปะการังโครงสร้างแหล่งอาศัยกลับเกิดจากสัตว์ตัวเล็กๆ บอบบางนับล้านๆ ตัว..!!

หลายคนคงรู้จักปะการังจากการได้ยินได้ฟัง หรือดูจากสารคดี แนวปะการังที่สวยงาม แต่ไม่น่าเชื่อว่าสิ่งนี้เกิดขึ้นจากการก่อตัวของสัตว์ตัวเล็กๆ ที่เรียกว่า “ปะการัง” และถ้าแอดฯ จะบอกว่าปะการังเป็นสัตว์ที่อยู่ร่วมสายตระกูลกับแมงกะพรุน คงมีน้อยคนที่จะเชื่อ.. ในสายตระกูลนี้ยังมี ปะการังอ่อน กัลปังหา ดอกไม้ทะเลร่วมอยู่ด้วย แต่อยู่กันคนละชั้น และมีรูปร่างที่แตกต่างกันไป

ปะการังตัวเล็กๆ บอบบางเหล่านี้ สร้างแนวปะการังที่เป็นพืดหินปูนขนาดใหญ่ได้อย่างไร..

หากมองลงไปในปะการังก้อนหนึ่งเราจะพบว่า มีหลุม หรือรูพรุนมากมายบนผิวปะการัง แต่ละรูเป็นที่อยู่ของตัวปะการัง 1หลุม หรือ 1 รูเป็นที่อยู่ของตัวปะการัง 1 ตัว ปะการังแต่ละก้อนจะประกอบด้วยตัวปะการังนับพันนับหมื่นตัว แอดฯ ได้แนบรูปของตัวปะการังที่วาดมาพอสังเขป จะเห็นได้ว่า ตัวปะการังนั้นบอบบางขนาดไหน ..

ด้วยขนาดตัวที่เล็กตั้งแต่ ไม่กี่มิลลิเมตร ไปจนถึงไม่เกิน 2 เซ็นติเมตรเท่านั้น ตัวปะการังประกอบด้วยเนื้อเยื่อบางๆ เหมือนวุ้นสองชั้น มีหนวดไว้จับเหยื่อ เช่น แพลงตอนขนาดเล็กเป็นอาหาร

ปะการังมีการสืบพันธุ์ 2 แบบ โดยมีการอาศัยเพศจากการผสมของน้ำเชื้อจากเซลล์สืบพันธุ์เพศผู้ผสมกับไข่ แล้วกลายมาเป็นตัวอ่อนของปะการัง ว่ายอยู่ในมวลน้ำก่อนลงเกาะพื้นและเจริญเติบโต จากนั้นจึงเริ่มกระบวนการสืบพันธุ์โดยไม่อาศัยเพศด้วยการ แบ่งตัวจาก 1 เป็น 2 จาก 2 เป็น 4 ทวีคูณไปเรื่อยๆ แต่กระบวนการเหล่านี้ไม่ได้รวดเร็วอย่างที่คิด เพราะกว่าจะเริ่มแบ่งตัวแต่ละครั้งอาจจะใช้เวลานานนับปี

แล้วปะการังสร้างหินปูนอย่างไร..

ในตัวของปะการังมีสาหร่ายร่วมอาศัยชนิดหนึ่งเรียกว่า ซูแซนเทลลี่ (zooxanthellae ) ซึ่งจะอาศัยอยู่ในชั้นเนื้อเยื่อภายในของปะการัง ที่คอยสังเคราะห์แสงโดยได้ปัจจัยจากของเสีย เช่น แอมโมเนีย และฟอสเฟต ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่ได้จากการขับถ่าย และหายใจของปะการัง ซึ่งผลจากการสังเคราะห์แสงจะเป็นแหล่งพลังงานที่สำคัญส่วนใหญ่ของปะการังด้วย เมื่อได้รับพลังงานเต็มที่ ปะการังก็สามารถทำการดูดซึมและตกตะกอนหินปูนที่ละลายอยู่ในน้ำทะเลให้สะสมกันจนเป็นโครงสร้างหินปูนรูปแบบต่างๆ ตามแต่ชนิดของปะการัง และกระบวนการนี้จะใช้เวลายาวนานกว่าจะได้ปะการังแต่ละก้อน ปะการังที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1 เมตร อาจใช้เวลาเป็นร้อยปีในการเจริญเติบโต

แม้เราจะเห็นว่าปะการังที่เป็นก้อน เป็นกิ่ง เป็นแผ่นแข็งๆ นั้น แต่ความจริงตัวปะการังนั้นบอบบางมาก ส่วนที่แข็งเป็นเพียงโครงสร้างหินปูนที่ปะการังสร้างขึ้นมา ส่วนตัวปะการังเล็กๆ บอบบางเหมือนวุ้นบางๆ ที่เคลือบอยู่บนผิว ดังนั้น เพียงการจับ สัมผัส แม้แผ่วเบา หรือการเหยียบย่ำ ก็เพียงพอที่จะฆ่าปะการังได้แล้ว

กว่าจะมาเป็นปะการังให้เราได้เห็น ชื่นชมกันนั้นใช้เวลานับหลายช่วงอายุคน เพียงสัมผัสเบาๆ ไม่ถึงนาที ก็ทำให้สิ่งเหล่านั้นสลายลงไปได้ ดังนั้น การไปเที่ยวทะเลดำน้ำลึก หรือสนอกเกิ้ล ก็อย่าจับ สัมผัสสิ่งใดๆ ใต้ท้องทะเล เพื่อความยั่งยืนของทรัพยากร และความปลอดภัยตัวท่านเอง

“ปะการัง” มากกว่าเพียงเป็นแนวหินโสโครก

แนวปะการัง เป็นที่รู้จักกันในหมู่ผู้นิยมการท่องเที่ยวทางทะเล ไม่ว่าจะเป็นนักดำน้ำ นักท่องเที่ยวทั่วไปว่า เป็นสถานที่อันสวยงามที่ธรรมชาติรังสรรค์ไว้ให้เป็นที่ชื่นชม และท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ แต่แนวปะการังนั้น มีคุณค่ามากกว่าที่จะเป็นเพียงแหล่งท่องเที่ยวทางทะเล การมีอยู่ของแนวปะการังนั้นก่อให้เกิดอะไรบ้าง

หากพูดถึงคุณค่าของแนวปะการังแล้ว คงบรรยายกันไม่จบเนื่องจากคุณค่าอันมีมากมายนับอนันต์ของแนวปะการังนั่นเอง แต่แอดฯ จะแบ่งคุณค่าด้านต่างๆ ออกเป็นสองด้านใหญ่ๆ คือ

1. คุณค่าด้านการเป็นแหล่งนิเวศบริการ (Ecosystem Service Value) นั่นคือคุณค่าที่ให้ประโยชน์ต่อมนุษย์ทางธรรมชาติที่อาจไม่ได้เกิดจากการใช้ประโยชน์โดยตรง และไม่สามารถตีมูลค่าเป็นตัวเงินได้ หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นคุณค่าที่ไม่สามารถประมาณได้.. คุณค่านี้ได้แก่

• แนวปะการังเป็นอีกระบบนิเวศหนึ่งที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของโลก โดยการกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ของปะการังในรูปของหินปูน เป็นการช่วยลดก๊าซเรือนกระจกที่ส่งผลต่อภูมิอากาศของโลก เรียกง่ายง่ายว่าช่วยลดโลกร้อนนั่นเอง

• โครงสร้างหินปูนของแนวปะการังที่ก่อตัวตลอดแนวชายฝั่งเป็นแนวกำแพงธรรมชาติ ที่ปกป้องชายฝั่งจากการกัดเซาะของคลื่น และกระแสน้ำ โดยการช่วยลดความรุนแรงของคลื่นทีกระทำต่อชายฝั่ง ช่วยให้ชายฝั่งมีความมั่นคง

• ช่วยสร้างหาดทราย ที่ขาวสะอาดอันเกิดจากการที่โครงสร้างหินปูนบางส่วน ถูกกัดกร่อนขัดสีจนเป็นชิ้นส่วนเม็ดทรายเล็กๆ และการกัดกร่อนจากสิ่งมีชีวิตในแนวปะการังให้เกิดเป็นเม็ดทรายมาเติมหาดทรายจนเป็นหาดทรายที่ละเอียดสวยงาม

• เป็นแหล่งอาศัยที่มีความหลากหลายสูงที่สุดแหล่งหนึ่งของโลก ในทะเลไทยมีปะการังแข็งไม่น้อยกว่า 380 ชนิด นอกจากนี้ยังมีสิ่งมีชีวิตกลุ่มอื่นๆอีกนับหลายพันชนิด ประกอบกันขึ้นจนเป็นแหล่งที่มีความสวยงาม และทรงคถณค่า

• เป็นแหล่งอาศัยของปลาในแนวปะการังไทยกว่า 800 ชนิด ที่เป็นทั้งปลาเศรษฐกิจ เป็นแหล่งอาหาร และปลาสวยงาม ที่มีคุณค่าต่อการท่องเที่ยว

2. คุณค่าทางเศรษฐกิจและสังคม (Socio-Economic Value) เป็นคุณค่าที่เกิดจากการใช้ประโยชน์โดยตรงจากแนวปะการัง และสามารถประเมินมูลค่าเป็นตัวเงินได้ ซึ่งได้แก่

• การเป็นแหล่งท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ รวมถึงเป็นแหล่งศึกษาธรรมชาติ แนวปะการังที่สวยงามมักจะกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นที่นิยมจากนักท่องเที่ยวที่แสวงหาความสวยงามและที่พักผ่อนหย่อนใจ รวมถึงกิจกรรม ดำน้ำ ตกปลา ฯลฯ

• เป็นแหล่งสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว และกิจกรรมเกี่ยวเนื่องต่างๆ ให้กับประเทศ จากข้อมูลของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเคยประเมินพอสังเขปไว้ถึง ปีละไม่น้อยกว่า 100,000 ล้านบาท

• เป็นแหล่งอาหารทะเลคุณภาพ และแหล่งสร้างรายได้ให้กับชาวประมง

• แนวปะการังที่มีความอุดมสมบูรณ์ และมีคุณค่าเป็นแหล่งศึกษาวิจัยและ แหล่งพัฒนาองค์ความรู้ด้านต่างๆ สำหรับนักวิจัย ที่สามารถนำองค์ความรู้สำหรับต่อยอดไปสู่การใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ

• ความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตในแนวปะการังทำให้เป็นแหล่งที่มีสารออกฤทธิ์ด้านต่างๆ ที่เกิดจากสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในแนวปะการัง รอคอยการค้นพบเพื่อพัฒนาเป็นตัวยาต่างๆ ที่นำไปใช้รักษาโรคต่างๆ อีกมากมาย

อาจมีคุณประโยชน์อื่นๆของแนวปะการังที่แอดฯ ยังไม่ได้กล่าวมาอีก แต่เพียงเท่านี้ก็ถือว่าคุณค่าของแนวปะการังนั้นมีมากมายนับอนันต์จริงๆ ซึ่งธรรมชาติได้สร้างสรรให้มาอย่างยาวนาน หากสิ่งเหล่านี้ต้องเสื่อมโทรม ล่มสลายลงไป มนุษย์เราจะไม่สามารถสร้างสิ่งใดขึ้นมาทดแทนได้เลยไม่ว่าจะต้องใช้เงินมากมายเพียงใด ..

เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างยั่งยืน บนพื้นฐานความเข้าใจที่ถูกต้องเพื่อรักษาสิ่งเหล่านี้ไว้ให้คนในรุ่นต่อๆไป คราวหน้าจะมาเล่าเรื่องการเสื่อมโทรมของแนวปะการังว่าเกิดจากอะไรบ้าง และเราจะช่วยเหลือธรรมชาติได้อย่างไรครับ

#แนวปะการัง #อุทยานการเรียนรู้ใต้ท้องทะเลจังหวัดกระบี่ #มูลนิธิเอ็นไลฟ #เพื่อความเป็นหนึ่งเดียวกันของสิ่งแวดล้อมและมนุษย์