คุณค่าร่วมจากการดำเนินงาน

โครงการอุทยานการเรียนรู้ใต้ท้องทะเลจังหวัดกระบี่ พื้นที่เกาะพีพีเล และเกาะยาวาซำ

มูลนิธิเอ็นไลฟ ร่วมกับสภาการศึกษาจังหวัดกระบี่ จังหวัดกระบี่ กองทัพเรือ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และภาคีที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันดำเนินการสร้างอุทยานการเรียนรู้ใต้ท้องทะเลจังหวัดกระบี่ขึ้น โดยการวางเรือหลวงที่ปลดประจำการแล้วจำนวน 4 ลำ ได้แก่ เรือหลวงโกลำ เรือหลวงราวี เรือหลวงตะลิบง (บริเวณเกาะยาวาซำ) ในปี พ.ศ. 2555 และเรือหลวงเกล็ดแก้ว (บริเวณเกาะพีพีเล) ในปี 2557 ให้เป็นบ้านใหม่ของสัตว์ทะเลน้อยใหญ่ในฐานะ “แนวปะการังเทียม” เพื่อเพิ่มแหล่งอาศัยสัตว์น้ำถาวร ลดผลกระทบและภาระจากการใช้ประโยชน์ของมนุษย์ต่อแนวปะการังธรรมชาติ รวมทั้งเป็นแหล่งเรียนรู้ระบบนิเวศใต้ท้องทะเล

โครงการสร้างความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาการจัดการทรัพยากรชายฝั่งทะเล จังหวัดกระบี่ พื้นที่บ้านเกาะจำ

ชุมชนบ้านเกาะจำ มูลนิธิเอ็นไลฟ สำนักงานจังหวัดกระบี่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ริเริ่มการแก้ไขปัญหาทรัพยากรชายฝั่งทะเลเสื่อมโทรมอันเกิดจากการทำประมงไม่ยั่งยืนในโครงการเพาะพันธุ์หอยชักตีน ตั้งแต่ปี 2556 จนเกิดการเรียนรู้และเครือข่ายความร่วมมือตามแนวทางการบริหารจัดการ และการใช้ทรัพยากรชายฝั่งของแหล่งอาหารทะเลคุณภาพอย่างยั่งยืนโดยชุมชน เช่น การจัดทำแนวเขตพื้นที่อนุรักษ์ 22.2 ไร่ การสร้างเครือข่ายการดูแลฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำสำคัญร่วมกัน เช่น การทำธนาคารปูม้า

โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงพัฒนา พื้นที่เกาะกลาง ต.คลองประสงค์

มูลนิธิเอ็นไลฟร่วมกับชุมชนวางแผนจัดทำประชาคมการประกาศป่าชายเลนชุมชน ม.2 บ้าน คลองประสงค์เนื้อที่ 30 ไร่ และยกระดับองค์ความรู้การเลี้ยงชันโรงเพื่อการอนุรักษ์ป่าชายเลนแก่ชุมชน เพื่อให้มีการพึ่งพาใช้ประโยชน์จากต้นทุนฐานทรัพยากรอย่างยั่งยืน รวมถึงขยายผลการจัดการขยะให้ครอบคลุมและให้ชุมชน และภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น

โครงการตอบแทนคุณระบบนิเวศบนพื้นที่แหลมพระนาง – ไร่เล

ชมรมธุรกิจการท่องเที่ยวอ่าวไร่เลย์-แหลมพระนางร่วมกับภาคีผู้ประกอบการบนพื้นที่ผลักดันการจัดการท่องเที่ยวยั่งยืนตาม “ไร่เลย์โมเดล” โดยมูลนิธิเอ็นไลฟให้การสนับสนุนองค์ความรู้และข้อมูลเกี่ยวกับทรัพยากรต่างแก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2565 นี้ มูลนิธิเอ็นไลฟได้ทำการสำรวจแหล่งปะการังน้ำตื้น ป่าชายหาด และป่าชายเลนเพิ่มเติม เพื่อสังเกตการณ์ฟื้นตัวเองโดยธรรมชาติของทรัพยากร และนำมาเสวนาร่วมกับชมรมฯ ในการวางแผนการดำเนินงานด้านการสร้างจิตสำนึกรักษ์ธรรมชาติแก่เยาวชน และผลักดันการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางออนไลน์ และกิจกรรมท่องเที่ยวเรียนรู้  ต่าง ๆ เพื่อสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ รวมทั้งนักท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มการท่องเที่ยวกลับมาเป็นปกติในปี 2566 ต่อไป