โครงการที่ผ่านมา

โครงการอนุบาลเต่าทะเล

ชายฝั่งทะเลอันดามันเป็นพื้นที่หนึ่งที่มีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรที่เหมาะแก่การขยายพันธุ์และอาศัยอยู่ของเต่าทะเลหลายชนิด การพัฒนาของการประมงและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวส่งผลกระทบต่ออัตราการวางไข่และขยายพันธุ์ของเต่าทะเล นอกจากนี้ลูกเต่าทะเลที่เพิ่งฟักออกจากไข่และกลับลงสู่ทะเลอาจจะได้รับบาดเจ็บจากขยะทะเลและพฤติกรรมอื่นๆ  เช่น ติดในซากอวน โดนใบพัดเรือทำให้บาดเจ็บ กินเศษขยะเข้าไป ดังนั้นการเพาะพันธุ์เต่าทะเลและการอนุบาลเต่าทะเลพิการหรือบาดเจ็บก่อนปล่อยกลับสู่บ้านตามธรรมชาติ นอกจากจะช่วยเพิ่มอัตราการอยู่รอดของเต่าแล้ว ยังเป็นการเพิ่มประชากรเต่าทะเลในฝั่งอันดามันได้อีกด้วย

มูลนิธิเอ็นไลฟ ร่วมมือกับกรมประมง กองทัพเรือและองค์กรส่วนท้องถิ่นอื่นๆ ได้จัดโครงการอนุบาลเต่าทะเล โดยดูแล อนุบาลเต่าทะเลพิการให้แข็งแรง ก่อนที่จะปล่อยกับไปสู่ทะเล เพื่อให้แน่ใจว่าเต่าพิการเหล่านั้นมีความโอกาสในการอยู่รอดและเติบโตจนสามารถสืบพันธุ์และวางไข่ได้ตามธรรมชาติ

เต่าทะเลที่ได้รับการอนุบาลมากกว่า 1 ปี
เต่าทะเลอายุ กำลังออกสู่ทะเล ซึ่งเป็นบ้านที่แท้จริงของพวกเขา
การจัดกิจกรรม เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความตระหนักรู้เรื่องสิ่งแวดล้อม ผ่านการทำกิจกรรมร่วมกัน

การแข่งขัน กระบี่ เอ็นไลฟ ซีคยัค ชิงชนะเลิศแห่งประเทศไทยและการแข่งขันซีคยัค Asia Championship

จังหวัดกระบี่ และมูลนิธิเอ็นไลฟได้ร่วมมือในการจัดกิจกรรมเพื่อปลูกจิตสำนึกและสร้างกระแสการรับรู้ให้กับนักท่องเที่ยวในการรักษาและฟื้นฟูความสมบูรณ์ของธรรมชาติอย่างยั่งยืน โดยมีสมาคมกีฬาเรือพายแห่งประเทศไทย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้ประกอบการ และชุมชน ร่วมเป็นภาคีจัดกิจกรรม “การแข่งขันซีคยัคกระบี่ เอ็นไลฟ ชิงชนะเลิศแห่งประเทศไทยและการแข่งขันซีคยัค Asia Championship อย่างต่อเนื่องทุกปี ซึ่งนอกเหนือจากการจัดการแข่งขันซีคยัคแล้ว ยังมีการจัดกิจกรรมสิ่งแวดล้อมเพื่อปลุกจิตสำนึกในการรักษาและฟื้นฟูความสมบูรณ์ของธรรมชาติอย่างยั่งยืน โดยร่วมกับกรมประมง ปล่อยเต่าทะเลและพันธุ์สัตว์น้ำอื่นๆ เพื่อให้นักกีฬาและนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติได้มีส่วนร่วมสร้างจิตสำนึกที่ดี ทั้งยังเป็นการสร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการดูแลและฟื้นฟูธรรมชาติอย่างยั่งยืน

การพายเรือประเภทนักท่องเที่ยว เรือ Sit on Top 2 ที่นั่ง ชมธรรมชาติป่าชายเลน ที่อ่าวท่าเลน ซึ่งเป็นจุดพายเรือคายัคที่เป็นที่ชื่นชอบของผู้ที่รักธรรมชาติ
การแข่งขันประเภทเรือเซิฟสกี ระยะทาง 21 กิโลเมตร เส้นทางอ่าวท่าเลน – ลานปูดำ
การแข่งขันประเภทเรือซีคยัค 1 ที่นั่ง ระยะทาง 10 กิโลเมตร เส้นทาง อ่าวนาง-ลานปูดำ

โครงการส่งเสริมการบริหารจัดการร่วมด้านทรัพยากรชายฝั่งและสิ่งแวดล้อมทะเลอันดามัน

โครงการส่งเสริมการบริหารจัดการร่วมด้านทรัพยากรชายฝั่งและสิ่งแวดล้อมทะเลอันดามัน หรือโครงการอนุรักษ์หอยชักตีน โดยความร่วมมือกับ กลุ่มจังหวัดอันดามัน (ระนอง ภูเก็ต พังงา กระบี่ ตรัง สตูล) โดยเป็นโครงการที่มุ่งเน้นการสร้างเครือข่ายการบริหารจัดการอย่างยั่งยืน โดยหอยชักตีนเป็นทรัพยากรสัตว์น้ำที่มีความสำคัญชนิดหนึ่งในระบบนิเวศน์วิทยาชายฝั่ง เนื่องจากหอยชักตีนเป็นสัตว์ทะเลชนิดหอยฝาเดียวที่อาศัยอยู่ตามบริเวณชายฝั่งที่มีลักษณะเป็นโคลนปนทราย และมักจะอาศัยอยู่ชุกชุมในแหล่งหญ้าทะเล หอยชักตีน  เป็นสัตว์หน้าดินที่ออกหากินในเวลากลางคืนโดยกินเศษซากเน่าเปื่อยตามพื้นท้องทะเลในแหล่งที่มันอาศัยอยู่ นอกจากจะเป็นการช่วยกำจัดเศษซากและทำความสะอาดท้องทะเลแล้ว ยังจะเป็นการช่วยปรับสมดุลของระบบนิเวศตามธรรมชาติด้วย

หอยชักตีนมีถิ่นที่อยู่แพร่กระจายอยู่ทั่วไปในประเทศเขตร้อน สำหรับในประเทศไทยมีแพร่กระจายทั้งฝั่งทะเลอันดามันและฝั่งอ่าวไทย โดยเฉพาะที่จังหวัดกระบี่จนถึงกับมีการกล่าวเปรียบเทียบว่า ใครมาเยือนกระบี่แล้ว ไม่ได้รับประทาน หอยชักตีน เหมือนกับยังมาไม่ถึงกระบี่ ดังนั้นเมื่อมีการนำหอยชักตีนขึ้นมาบริโภคอย่างต่อเนื่องโดยขาดการบริหารจัดการที่ดี ทำให้ปริมาณหอยชักตีนในแหล่งธรรมชาติลดน้อยลงเพราะหอยไม่สามาสารถขยายพันธุ์ได้ตามธรรมชาติ ซึ่งในอนาคตอาจจะขาดแคลนและสูญพันธุ์ไปจากแหล่งธรรมชาติได้

มูลนิธิเอ็นไลฟ เป็นองค์กรที่มีวัตถุประสงค์และภารกิจหลักในเรื่องการดูแล รักษาและฟื้นฟูเรื่องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมชายฝั่งอย่างยั่งยืน ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในเรื่องนี้ จึงได้จัดกิจกรรมเพื่อปลูกจิตสำนึกและรณรงค์การบริหารจัดการหอยชักตีน ดังนี้

–  การสัมมนา การบริหารจัดการหอยชักตีนในฝั่งทะเลอันดามัน โดยมุ่งเน้นที่จะได้ข้อสรุปจากการสัมมนา เพื่อนำไปเป็นแนวทางในการจัดทำแผนการบริหารจัดการหอยชักตีนต่อไปในอนาคต

– การรณรงค์การบริหารจัดการหอยชักตีน ด้วยสื่อประชาสัมพันธ์ เช่น แผ่นพับ โปสเตอร์ สติ๊กเกอร์ และ ป้ายประชาสัมพันธ์ขนาดใหญ่

– การปล่อยพันธุ์หอยชักตีน เพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำที่มีอยู่ในพื้นที่ โดยการร่วมบริหารจัดการแหล่งทรัพยากร

การสัมมนาโดยการสร้างการมีส่วนร่วมกับผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อระดมความคิดเห็นและขอความร่วมมือการบริหารจัดการหอยชักตีน
การทำกิจกรรม Workshop เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ และแนวทางในการบริหารจัดการหอยชักตีน
การทำกิจกรรมปล่อยพันธุ์หอยชักตีน ร่วมกับชุมชน เพื่อสร้างความตระหนักรู้ และปลูกจิตสำนึกในอนุรักษ์ทรัพยาการ

โครงการแหลมพระนาง-ไร่เลเพื่อการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์อย่างยั่งยืน

พื้นที่บริเวณแหลมพระนาง ไร่เล ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธาราและหมู่เกาะพีพี อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ โดยมีลักษณะเป็นแหลมยื่นออกไปในทะเล ล้อมรอบด้วยภูเขาหินปูนสูงชัน ทำให้เป็นพื้นที่ที่มีภูมิประเทศสวยงามแปลกตาและมีความหลากหลายทางระบบนิเวศ ด้วยความสวยงามและความสมบูรณ์ของธรรมชาติ ทำให้แหลมพระนาง ไร่เล เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมระดับโลก มีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลต่อปัญหาการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ดังกล่าว

มูลนิธิเอ็นไลฟเล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาพื้นที่แหลมพระนาง – ไร่เล เพื่อการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์อย่างยั่งยืน จึงได้ร่วมมือกับชมรมธุรกิจการท่องเที่ยวอ่าวไร่เลย์-แหลมพระนาง โดยมีการดำเนินงานและกิจกรรม ร่วมกันดังต่อไปนี้ 

   –  การวางระบบการดูแลบริหารจัดการการบำบัดน้ำเสียเพื่อเป็นต้นแบบ 

   – การบริหารจัดการการจัดเก็บขยะบริเวณหาดไร่เล 

   – การวางทุ่นกำหนดเขตเดินเรือ และเป็นจุดผูกเรือเพื่อการจัดระเบียบการเข้า-ออก และจอดเรือบริเวณหาดพระนาง หาดน้ำเมา และหาดไร่เล 

   – การปรับปรุงทางเดินและไฟส่องสว่างบริเวณถ้ำพระนางเพื่อความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว 

   – สร้างห้องน้ำที่ถูกสุขลักษณะ สำหรับนักท่องเที่ยวบริเวณถ้ำพระนาง 

การทำงานร่วมกันระหว่าง มูลนิธิเอ็นไลฟ ภาครัฐ ผู้ประกอบการ และชมรมธุรกิจการท่องเที่ยวอ่าวไร่เลย์-แหลมพระนาง
การปรับภูมิทัศน์ทางเดิน พร้อมบอร์ดนิทรรศการสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับนักท่องเที่ยว
การวางทุ่นกำหนดเขตเดินเรือ และเป็นจุดผูกเรือเพื่อการจัดระเบียบการเข้า-ออก