แหล่งหญ้าทะเล

ระบบนิเวศชายฝั่งที่สำคัญอีกแหล่งหนึ่งได้แก่ แหล่งหญ้าทะเล หลายคนอาจยังสงสัยว่า..อ้าว แล้วหญ้าทะเลไม่ใช่สาหร่ายทะเลเหรอ แล้วมันมีความแตกต่างกันตรงไหน

หญ้าทะเลเป็นพืชชั้นสูงที่มีวิวัฒนาการลงสู่ทะเลเมื่อหลายล้านปีก่อน โดยยังคงมีลักษณะของพืชชั้นสูงที่มีระบบท่อลำเลี้ยงน้ำ/อาหาร และมีการสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศโดยการสร้างดอก และเมล็ด ..ส่วนสาหร่ายทะเลนั้นเป็นพืชชั้นต่ำที่ไม่มีระบบท่อลำเลียงอาหาร และมีการสืบพันธุ์โดยการใช้สปอร์

ความแตกต่างระหว่างหญ้าทะเล และสาหร่ายทะเล

ระบบนิเวศหญ้าทะเลมักพบในบริเวณชายฝั่งที่มีความลาดชันน้อยมีลักษณะพื้นตั้งแต่เป็นโคลน จนถึงทรายปนโคลน ซึ่งมักอยู่ในเขตน้ำขึ้นน้ำลง บางแห่งอาจอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำลงต่ำสุด ซึ่งในแหล่งหญ้าทะเล จะพบหญ้าทะเลหลายชนิดขึ้นปกคลุมพื้นที่ปะปนกัน บางแห่งอาจครอบคลุมพื้นที่กว้างหลายตารางกิโลเมตร

ซึ่งแหล่งหญ้าทะเลที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยได้แก่แหล่งหญ้าทะเลในจังหวัดตรัง และต่อเนื่องไปยังจังหวัดกระบี่บริเวณกลุ่มเกาะศรีบอยา ในอำเภอเหนือคลอง

ในโลกนี้มีหญ้าทะเลที่สำรวจพบแล้วประมาณ 60 ชนิด ในประเทศไทยเราสำรวจพบทั้งหมด 13 ชนิด โดยพบในฝั่งอ่าวไทย 12 ชนิด และฝั่งอันดามัน 12 ชนิด

หญ้าทะเลแต่ละชนิดที่พบในบ้านเรา จะมีลักษณะและขนาดที่แตกต่างกัน ซึ่งแอดฯ จะลองจัดกลุ่มตามลักษณะเด่นๆ (อันนี้ไม่ได้อิงหลักเกณฑ์ทางอนุกรมวิธาน) แบบที่สังเกตง่ายๆ ได้ 3 กลุ่ม คือ

1. กลุ่มใบแบบใบพาย ได้แก่ หญ้าทะเลในสกุล Halophila เช่น หญ้าอำพัน หญ้าชะเงาใบเล็ก หญ้า ชะเงาใบใหญ่ หญ้าชะเงาแคระ และหญ้าชะเงาใส
2. กลุ่มที่มีใบแบนยาวแบบริบบิ้น ชนิดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดคือ หญ้าคาทะเล ที่อาจมีใบยาวได้กว่า 1 เมตร ส่วนชนิดอื่นๆ ได้แก่หญ้าเงาเต่า หญ้าชะเงาปลายใบหยัก หญ้าผมนาง ฯลฯ
3. ชนิดที่มีใบเป็นเส้นกลม ซึ่งพบเพียงชนิเดียวได้แก่หญ้าต้นหอมทะเล โดยมีใบเป็นเส้นกลมเหมือนใบต้นหอมหรือใบสน

คุณค่าของทุ่งหญ้าในทะเล

ทุ่งหญ้าบนบกนั้น คงเป็นที่รับรู้กันบ้างแล้วว่ามีคุณค่าในด้านการเป็นแหล่งอาหาร ของสัตว์น้อยใหญ่ เป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนจากชั้นบรรยากาศสู่พื้นดิน..ในแหล่งหญ้าทะเลเองก็มีคุณค่าที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน เรามาดูกันครับว่าหญ้าทะเลสร้างคุณค่าให้กับท้องทะเลและโลกใบนี้อย่างไรบ้าง

• หญ้าทะเลเป็นแหล่งที่ให้ผลผลิตชีวมวลจำนวนมากแก่ท้องทะเลในแต่ละปี ที่ได้จาก ลำต้น ใบ ราก ของหญ้าทะเล ซึ่งชีวมวลเหล่านี้จะย่อยสลายเป็นสารอินทรีย์ และธาตุอาหารแก่สิ่งมีชีวิตน้อยใหญ่ในทะเล
• หญ้าทะเลสามารถกักเก็บคาร์บอนที่ละลายอยู่ในน้ำทะเลเอาไว้ในรูปของชีวมวล เช่น ลำต้น ใบ และราก ซึ่งแหล่งหญ้าทะเลเป็นหนึ่งในแหล่งกักเก็บคาร์บอนในทะเลที่รู้จักกันว่าเป็น Blue Carbon ในแหล่งหญ้าทะเลที่สมบูรณ์นั้น สามารถกักเก็บปริมาณคาร์บอน/พื้นที่ ได้มากกว่าป่าบกถึงกว่าสองเท่า (อ้างอิง: www.climateaction.org)


• หญ้าทะเลเป็นเสมือนปอดของทะเล เนื่องจากหญ้าทะเลนั้นสามารถสามารถปลดปล่อยออกซิเจนสู่น้ำทะเลได้จากกระบวนการสังเคราะห์แสง ในปริมาณประมาณ 10 ลิตร/ตารางเมตร/วัน เลยทีเดียว (https://ocean.si.edu/…/plants-al…/seagrass-and-seagrass-beds)
• ใบของหญ้าทะเลที่มีความซับซ้อน สามารถชะลอกระแสน้ำ ทำให้เกิดการตกตะกอนของสารอินทรีย์ทับถมกัน สร้างความสมบูรณ์ให้แก่ท้องทะเลในบริเวณแหล่งหญ้าทะเล และช่วยให้น้ำทะเลมีความใสสะอาด


• ในทุ่งหญ้าที่มีความสมบูรณ์นั้น หญ้าทะเลจะมีรากที่สานกันเป็นร่างแหที่ช่วยยึดผิวหน้าดินพื้นทะเลไม่ให้ถูกกัดเซาะชะล้างออกไปโดยกระแสน้ำและคลื่นลม
• โครงสร้างที่ซับซ้อนและพื้นทีผิวของใบหญ้าทะเลเป็นแหล่งอาศัยและแหล่งหลบภัยของสัตว์ทะเลขนาดเล็กและสัตว์ทะเลวัยอ่อน โดยสัตว์เหล่านี้จะอาศัยในบริเวณช่องว่างระหว่างต้นหญ้า บนส่วนต่างๆของต้น ราก ใบหญ้า และใต้ผิวดินรอบๆ ต้นหญ้า ทำให้หญ้าทะเลเป็นเสมือนแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อนขนาดใหญ่ของท้องทะเล
• เป็นแหล่งวางไข่ของปลาและสัตว์ทะเล ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจหลายๆ ชนิด


• หญ้าทะเลเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของสัตว์ทะเลหายากใกล้สูญพันธุ์ เช่น เต่าตนุ และพะยูน เป็นต้น

หญ้าทะเลเสื่อมโทรมลงเพราะอะไร

ลองทำภาพมาให้ทราบถึงลักษณะและสาเหตุการเสื่อมโทรมของแหล่งหญ้าทะเลกันครับ จากที่เคยประสบมา สามารถแบ่งความเสียหายของหญ้าทะเลได้เป็น 3 ลักษณะใหญ่ๆ คือ

• เสียหายจากการทับถมของตะกอนจำนวนมาก แม้ว่าหญ้าทะเลจะสามารถทนต่อการทับถมของตะกอนอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงตามฤดูกาลในทะเลได้ แต่ตะกอนที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ เช่น การเปิดหน้าดินชายฝั่งทำให้เกิดการชะล้างของดินตะกอนจำนวนมากลงสู่แหล่งหญ้าทะเล การสร้างสิ่งกีดขวางลำน้ำ อาทิ ท่าเรือขนาดใหญ่ เขื่อนปากคลอง เขื่อนกันคลื่น ทำให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งและคลื่อนย้ายทรายไปถมลงในแหล่งหญ้าทะเล การขุดลอกเปลี่ยนทางน้ำทำให้ตะกอนไหลไปทับถมลงในแหล่งหญ้าทะเล ซึ่งตะกอนเหล่านี้เกินกำลังที่แหล่งหญ้าทะเลจะอยู่รอดได้ ทำให้แหล่งหญ้าทะเลต้องเสื่อมโทรมและหายไปจากพื้นที่

• การขาดหลุดลอยของหญ้าทะเล เกิดจากกิจกรรมมนุษย์โดยตรง ได้แก่ การใช้เครื่องมือประมงที่ทำลายล้าง ลักลอบทำในแหล่งหญ้าทะเล ทั้ง อวนลาก อวนรุน ที่ใช้เรือยนต์ขนาดใหญ่ ซึ่งสร้างความเสียหายแก่แหล่งหญ้าได้อย่างรุนแรง เนื่องจากเครื่องมือเหล่านี้ไม่ได้ทำให้เพียงใบหญ้าขาดออก แต่จะขุดเอาเหง้า และรากของหญ้าทะเลขึ้นมาด้วย ทำให้หญ้าทะเลในบริเวณที่ทำประมงต้องหายไปเป็นจำนวนมาก รวมถึงการคราดหอยในแนวหญ้าทะเล ที่สามารถสร้างความเสียหายแก่หญ้าทะเลได้เช่นกัน

• การเน่าเปื่อยเสื่อมโทรมของหญ้าทะเล การปล่อยน้ำเสียชุมชนลงสู่แหล่งหญ้าทะเลเป็นสาเหตุสำคัญเนื่องจากน้ำเสียชุมชนเป็นแหล่งน้ำที่มีสารอินทรีย์และธาตุอาหารสูงซึ่งอาจมีสารเคมีจากการซักล้างปนเปื้อนลงไปด้วย ทำให้เกิดการหมักหมมได้โดยเฉพาะในแหล่งหญ้าทะเลที่โผล่พ้นน้ำในช่วงน้ำลงเป็นเวลานานๆ นอกจากนี้อุตสาหกรรมบางประเภท เช่น โรงดองแมงกะพรุนที่บางครั้งจะทำกันในบริเวณชายฝั่งใกล้แหล่งหญ้าทะเลและบางที่อาจปล่อยน้ำจากการดองแมงกะพรุนที่มีความเข้มข้นของเกลือ และโซดาไฟสูงที่ยังไม่ได้บำบัดลงในแหล่งหญ้าทะเลโดยตรง ซึ่งก็ทำให้แหล่งหญ้าทะเลเกิดความเสื่อมโทรมลงได้

หญ้าทะเล ระบบนิเวศที่สำคัญและทรงคุณค่า แต่ก็มีความเปราะบางมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันนี้ ที่มีกิจกรรมและปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้แหล่งหญ้าทะเลเสื่อมโทรมเพิ่มมากขึ้นทุกที จึงอยากฝากเป็นโจทย์ให้ทุกคนลองตอบดูว่า ทำอย่างไรเราจะรักษาแหล่งหญ้าทะเลให้คงอยู่ได้คู่กับท้องทะเลไทย

#หญ้าทะเล #มูลนิธิเอ็นไลฟ #EnliveFoundation #เพื่อความเป็นหนึ่งเดียวกันของสิ่งแวดล้อมและมนุษย์