พื้นที่หมู่เกาะศรีบอยา-หาดเจ้าอูฐ

โครงการสร้างความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาการจัดการทรัพยากรชายฝั่งทะเล จังหวัดกระบี่
(บ้านเกาะจำ บ้านหลังเกาะ บ้านนาทุ่งกลางและบ้านท่าคลอง)

ชุมชนบ้านเกาะจำ มูลนิธิเอ็นไลฟ สำนักงานจังหวัดกระบี่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ริเริ่มการแก้ไขปัญหาทรัพยากรชายฝั่งทะเลเสื่อมโทรมอันเกิดจากการทำประมงไม่ยั่งยืนในโครงการเพาะพันธุ์หอยชักตีน ตั้งแต่ปี 2556 จนเกิดการเรียนรู้และเครือข่ายความร่วมมือตามแนวทางการบริหารจัดการ และการใช้ทรัพยากรชายฝั่งของแหล่งอาหารทะเลคุณภาพอย่างยั่งยืนโดยชุมชน เช่น การจัดทำแนวเขตพื้นที่อนุรักษ์ 22.2 ไร่ การสร้างเครือข่ายการดูแลฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำสำคัญร่วมกัน เช่น การทำธนาคารปูม้า

ผลลัพธ์การดำเนินงาน

พื้นที่หมู่เกาะศรีบอยา : บ้านเกาะจำ

  • ชาวประมงพื้นบ้านบ้านเกาะจำจำนวน 15 ราย ได้รับความรู้เกี่ยวกับวงจรชีวิตและช่วงเวลาขยายพันธุ์พ่อแม่พันธุ์หอยชักตีน เพื่อเพิ่มโอกาสการเพาะฟักของลูกพันธุ์หอย และเพิ่มปริมาณหอยชักตีนตามธรรมชาติให้มากขึ้นโดยมีนักวิชาการด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ กรมประมง ร่วมเป็นวิทยากร
  • องค์การบริหารส่วนตำบลเกาะศรีบอยา ดำเนินโครงการนำร่องชุมชนตำบลเกาะศรีบอยาปลอดขยะ โดยมูลนิธิเอ็นไลฟเป็นวิทยากรให้ความรู้การจัดการขยะด้วยหลัก 3 Rs และสาธิตการทำเตาเผาขยะควันน้อยแก่ผู้นำชุมชน และนักเรียนจากทั้ง 7 หมู่บ้านในตำบลเกาะศรีบอยา
  • การติดตั้งเตาเผาขยะควันน้อยที่ชุมชนได้ร่วมกันจัดทำในโรงเรียน 4 แห่ง โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ 1 แห่ง และแหล่งชุมชน 7 หมู่บ้าน

พื้นที่หมู่เกาะศรีบอยา : บ้านหลังเกาะ

  • ผู้นำชุมชน ชุมชน และกลุ่มบริหารจัดการประมงบ้านหลังเกาะได้ร่วมกันจัดทำแผนชุมชนด้านการจัดการทรัพยากร ในการขยายแนวเขตอนุรักษ์หญ้าทะเลจาก 50 ไร่ เป็น 125 ไร่ เสนอเป็นแผนงาน อบต.เกาะศรีบอยา หลังการสำรวจและประเมินความต้องการของชุมชนในปี 2564
  • มูลนิธิเอ็นไลฟร่วมกับผู้นำชุมชนชี้แจงขั้นตอนการจัดทำ และการประกาศพื้นที่เขตอนุรักษ์หญ้าทะเลแก่ชุมชนบ้านหลังเกาะ รวมถึงประสานกับตัวแทนการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย โรงไฟฟ้ากระบี่ เพื่อให้ชุมชนมีโอกาสเข้าถึงการสนับสนุนโครงการให้เกิดความสำเร็จตามแผนชุมชน
  • การสนับสนุนลูกพันธุ์ปูดำจำนวน 10,000 ตัว ปล่อยคืนในพื้นที่ป่าชายเลนเกาะศรีบอยาร่วมกับชุมชน อบต.เกาะศรีบอยา และภาคีเครือข่าย ทำให้เกิดความตระหนักในการใช้ประโยชน์ทรัพยากรสัตว์น้ำยั่งยืน
  • วิทยากรให้ความรู้เกี่ยวกับหอยชักตีน และรณรงค์การไม่บริโภคหอยชักตีนที่มีขนาดไม่ถึง 4 เซนติเมตร แก่เยาวชน และผู้เข้าร่วมกิจกรรมปล่อยลูกพันธุ์หอยชักตีนสู่แหล่งน้ำธรรมชาติประจำปี 2565 ณ แปลงอนุรักษ์หญ้าทะเลบ้านหลังเกาะ จำนวน 20,000 ตัว จัดโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย โรงไฟฟ้ากระบี่ มีผู้เข้าร่วมจำนวน 50 ราย จาก 6 องค์กร

นอกจากนั้น อบต.เกาะศรีบอยา ได้หารือและประสานการสนับสนุนองค์ความรู้จากมูลนิธิเอ็นไลฟ เพื่อการดำเนินโครงการอนุรักษ์ ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมตามแผนงานปีงบประมาณ 2566 ซึ่งมุ่งเน้นไปที่การให้ความรู้แก่กลุ่มเยาวชนเกี่ยวกับระบบนิเวศหญ้าทะเล การอนุรักษ์พันธุกรรมพืชในท้องถิ่น

พื้นที่หาดเจ้าอูฐ : บ้านนาทุ่งกลาง และบ้านท่าคลอง

  • การสำรวจขอบเขตพื้นที่หวงห้ามเนื้อที่ 50 ไร่ ในป่าชายเลนชุมชน และประเมินความต้องการร่วมกับชุมชน ในการใช้ประโยชน์พืชสมุนไพร และการจัดทำเส้นทางศึกษาเรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลน
  •  การสนับสนุนลูกพันธุ์ปูดำจำนวน 10,000 ตัว ปล่อยคืนในพื้นที่หวงห้ามป่าชายเลนชุมชน ทำให้ชุมชนได้รับทราบถึงเจตนารมณ์การจัดการทรัพยากร และเขตพื้นที่หวงห้ามร่วมกัน โดยดำเนินการร่วมกับชุมชน อบต.เกาะกลาง และภาคีเครือข่าย
  • การประสานระหว่างชุมชน สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์กรมหาชน) หรือ BEDO และมหาวิทยาลัยราชภัฎภูเก็ต พัฒนาโครงการธนาคารพืชสมุนไพรป่าชายเลน และพืชสมุนไพรพื้นบ้าน (Community Bio Bank) ซึ่งได้รับการอนุมัติงบประมาณดำเนินงานเป็นระยะเวลารวม 3 ปี ดำเนินการโดยกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มพัฒนาอาชีพหมู่บ้านป่าไม้แผนใหม่
  • การร่วมสำรวจชีพลักษ์และพิกัดพันธุ์พืชสมุนไพรป่าชายเลนเป้าหมาย 9 ชนิด ได้แก่ โกงกางใบใหญ่ ตะบูน ถั่วขาว จาก เหงือกปลาหมอ ตาตุ่มทะเล กำแพงเจ็ดชั้น ขลู่ จิกทะเล และพันธุ์พืชสมุนไพรพื้นบ้านเป้าหมาย 10 ชนิด ได้แก่ ฟ้าทะลายโจร บอระเพ็ด ปลาไหลเผือก ทองพันชั่ง ขมิ้นชัน ว่านนางคำ ว่านชักมดลูก เพกา ขมิ้นทอง รางจืด ร่วมกับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนฯ อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฎภูเก็ต หมอยาสมุนไพรพื้นบ้าน อาสาสมัครชุมชน และนักศึกษา กศน. ตำบลเกาะกลาง อ.เกาะลันตา จ.กระบี่
  •  การร่วมสำรวจและให้ข้อเสนอแนะแก่ชุมชนบ้านนาทุ่งกลาง และบ้านท่าคลองในการจัดทำเส้นทางท่องเที่ยวเชิงนิเวศจากต้นน้ำถึงปลายน้ำ ร่วมกับภาคีเครือข่ายด้านการท่องเที่ยวชุมชนเกาะลันตา โดยชุมชนต้องการสร้างความร่วมมือของชุมชนในการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ มีผู้เข้าร่วมจำนวน 10 ท่าน
  • การร่วมสำรวจและจัดทำพิกัดเส้นทางพายคายัคศึกษานิเวศป่าชายเลนระยะทาง 1 กิโลเมตร เพื่อนำมาจัดทำเป็นสื่อเรียนรู้และประชาสัมพันธ์การศึกษาและท่องเที่ยวเชิงนิเวศของชุมชน และได้สำรวจความเปลี่ยนแปลงชีพลักษณ์พืชสมุนไพรเป้าหมายตามโครงการ Community Bio Bank ที่อยู่ในเส้นทาง พบว่า มีความเปลี่ยนแปลงของใบและดอกจำนวน 8 ชนิด ใน 9 ชนิด  
ชุมชนร่วมกันการจัดสร้างคอกธนาคารปูม้าในทะเล
เขตพื้นที่อนุรักษ์ป่าชายเลนบ้านนาทุ่งกลางและบ้านท่าคลอง (Core Area)
เส้นทางพายเรือคยัค ศึกษาธรรมชาติป่าชายเลน