ธนาคารปูม้า เพิ่มโอกาสการสืบพันธุ์ให้สัตว์น้ำ

ที่บ้านเกาะจำ ต.เกาะศรีบอยา อ.เหนือคลอง และบ้านนาทุ่งกลาง-บ้านท่าคลอง ต.เกาะกลาง อ.เกาะลันตา จ.กระบี่ มีการทำธนาคารปูม้า เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสให้แม่พันธุ์ปูได้มีโอกาสสืบพันธุ์ต่อไป

ชุมชนทั้ง 3 มีการทำประมงอยู่แล้ว และเมื่อจับปูม้ามาได้แล้วพบว่าเป็นแม่ปูไข่ จะมีการนำไว้ที่ธนาคารปูม้าก่อน เพื่อให้แม่ปูได้เขี่ยไข่ก่อนที่จะนำไปขาย หรือนำไปบริโภค

จากงานวิจัยเกี่ยวกับปูม้า พบว่า ขนาดแรกสืบพันธุ์ของปูม้ามีความกว้างกระดองอยู่ที่ 9.75 เซนติเมตร แต่ในช่วงระยะ 10 ปี ขนาดแรกสืบพันธุ์ของปูม้าลดลงเหลือเพียง 8.4 เซนติเมตร และมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ ซึ่งสัมพันธ์กับปริมาณของไข่ปูม้าที่จะลดลงตามไปด้วย

จากการศึกษาในธนาคารปูม้าและการเพาะเลี้ยงโดย จินตนา และคณะ (2554) พบว่า อัตราการรอดของ ลูกปูม้าต่อแม่ปูม้าไข่นอกกระดอง 1 ตัว หลังจากแม่ปูม้าสลัดไข่จำนวนไข่ที่รอดในระบบจะมีประมาณ 998,292 ฟอง จากระยะโซเอียจะมีอัตราการรอดเป็นตัวอ่อนระยะเมกะโลปาประมาณ 65% คิดเป็นตัวอ่อนระยะเมกะโลปา 24 ประมาณ 648,890 ตัว

อย่างไรก็ตามระยะโซเอียและเมกะโลปา ตัวอ่อนปูม้าในระยะนี้จะเป็นแพลงก์ตอนสัตว์ ดังนั้นอัตราการรอดจะค่อนข้างต่ำและมีการตายในธรรมชาติสูงโดยพบว่าอย่างน้อยที่สุดอัตราการรอดจากระยะเมกะโลปาเป็นลูกปูม้า (young crab) เท่ากับ 3.2% ซึ่งจะได้ลูกปูม้าในระบบอย่างน้อยเท่ากับ 20,765 ตัว โดย หากอัตราการรอดของตัวอ่อนปูม้าเป็นตัวเต็มวัยคิดที่ระดับน้อยที่สุดไม่ถึง 1 เปอร์เซนต์จะมีจำนวนปูม้าตัวเต็มวัยที่สามารถเริ่มสืบพันธุ์วางไข่ได้อย่างน้อย 160 ตัว จากการที่นำแม่ปูม้ามาเขี่ยไข่ในธนาคารปูม้า

ขอให้ครั้งต่อไปที่จะเลือกรับประทานปูม้า ขอให้ไม่เป็นแม่ปูไข่นะคะ เพื่อเปิดโอกาสให้ปูม้าได้มีโอกาสขยายพันธุ์ เพื่อความมั่นคงทางอาหารของพวกเราทุกคน

#บ้านเกาะจำ #บ้านนาทุ่งกลาง #บ้านท่าคลอง #หมู่เกาะศรีบอยา #หาดเจ้าอูฐ #ธนาคารปูม้า #ปักหมุดจุดยั่งยืน #หวงแหนกระบี่ #CherishKrabi #มูลนิธิเอ็นไลฟ #EnliveFoundation #เพื่อความเป็นหนึ่งเดียวกันของสิ่งแวดล้อมและมนุษย์